ปริศนาธรรม จากธรรมจักรสมัยคุปตะอินเดียโบราณ

3 วงกลมจากในสุด
วงกลมหมายเลข 1 คือสัญลักษณ์ของอรูปภูมิ
วงกลมหมายเลข 2 คือสัญลักษณ์ของรูปภูมิ
วงกลมหมายเลข 3 คือสัญลักษณ์ของกามภูมิ

จุดวงกลมเล็กๆ ที่ปรากฏอยู่บนขอบของวงกลม(ทุกวงกลม)
สื่อความหมายถึงสภาวธรรมของรูป นามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันกาล อายุกาลของรูปและนามนั้นสั้นมาก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปอย่างรวดเร็ว

พื้นที่วงกลมหมายเลข 3 จะมีสัญลักษณ์ของเส้นที่เป็นรูปคลื่น
สื่อความหมายถึงจุด(สภาพการเกิดดับของรูป นาม) เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นสภาวะที่สืบต่อ(สันตติ)กันเป็นสาย ๆ ดุจดั่งปรากฏการณ์ของกระแสธารที่ไหลเรื่อยไป เรียกว่าสายธารแห่งการเกิด ดับ, สายธารแห่งการเกิดและตาย หรือสายธารแห่งสังสารวัฏฎ์

แขนธรรมจักร 15 อัน
แขนธรรมจักร 8 อันแรก สื่อความหมายถึงอริยอัฏฐังคิกมัคค์(มรรคมีองค์ 8)
แขนธรรมจักร 7 อันที่เหลือ สื่อความหมายถึงองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้(โพชฌงค์)
กำลังแห่งมรรคสั่งสมกำลังพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับโพชฌงค์(องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้) ในบริบทของอังฐังคิกมัคค์ สติอยู่ในลำดับที่ 7 ในบริบทของโพชฌงค์ สติทำกิจอยู่ในลำดับที่ 1

ดอกไม้ จำนวน 15 ดอก
สื่อความหมายถึงการปฏิบัติบูชาที่พรั่งพร้อม สมบูรณ์ด้วยองค์ธรรมทั้ง 15 องค์

มรรคญาณ คือกระบวนการบรรลุธรรม(นิพพาน)
…เป็นสภาวะที่สันตติความสืบต่อของนาม รูปดับสิ้นสุดลง
…เป็นสภาวะของความดับสุดท้ายที่ไม่มีสภาวะแห่งการเกิดมาสืบต่อ
…เมื่อไม่มีสภาวะแห่งการเกิดจักมีความดับได้อย่างไร
…เมื่อไม่มีความเกิดจักมีความแก่ ความชรา ความเจ็บไข้ ความตายได้อย่างไร
สภาวธรรมที่ความเกิด และความดับไม่ปรากฏคือ นิพพานธาตุ

ขอองค์ธรรมแห่งมรรคทั้งแปดและโพชฌงค์ทั้งเจ็ด
จงปรากฏแจ่มแจ้งและตั้งมั่น
ในดวงจิตของผู้ที่ดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งวิปัสสนาทุกท่าน

<<<<<<<< >>>>>>>>

ธรรมจักร แกะจากหิน สมัยคุปตะอินเดียโบราณ

ศิลปะสมัยคุปตะ : ยุคทองของอินเดีย

อินเดียเจริญถึงขีดสุดในทุกด้าน คือ ด้านปรัชญา ศาสนา วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ จิตรกรรม และประติมากรรม ศิลปะคุปตะเจริญขึ้นทางภาคเหนือของอินเดีย และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งเกิดจากการพัฒนางานศิลปะให้ละเอียดอ่อนมากขึ้นจากศิลปะสมัยก่อน

ในระยะนี้พระพุทธศาสนาทั้งนิกายมหายาน และหินยานได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก เช่น ที่เมืองมถุรา และปาฏลีบุตร มีสถูปที่สวยงาม นาลันทาเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาพระพุทธศาสนามหายาน

ขณะเดียวกันศาสนาฮินดูได้รุ่งเรืองขึ้นอีกและค่อยๆ ดูดซึมเอาพระพุทธศาสนาไปทีละน้อย วรรณกรรมที่สำคัญที่ได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง คือ มหากาพย์มหาภารตะ และรามายณะ กาลิทาส ผู้เป็นกวีเอกในสมัยนี้ได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่ม ที่โดดเด่น คือ สกุนตลา

ทางด้านประติมากรรม ศิลปะสมัยคุปตะส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปมนุษย์มิใช่รูปสัตว์ หรือรูปมนุษย์ที่อยู่กับธรรมชาติ หรือถ้ามีก็เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ไม่มีความสำคัญเหมือนกับสมัยมถุรา และอมราวดี ศิลปะคุปตะ ได้ถ่ายทอดสุนทรียภาพทางความงามออกมาให้ปรากฏ โดยการสร้างมนุษย์ให้มีความงาม สมบูรณ์แบบ เหมือนวัยหนุ่มสาว ประติมากรรมที่สร้างขึ้นจะเนียนเรียบ อาภรณ์ที่สวมใส่ก็แนบเนื้อ เหมือนผ้าที่เปียกน้ำ ทำให้แทบมองทะลุเข้าไปเนื้อในได้

ประติมากรรมชิ้นสำคัญที่สุดในสมัยนี้ คือ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักจากหินทรายที่สารนาถ พุทธลักษณะมีรัศมีกลมใหญ่ สลักลวดลายพรรณพฤกษาประดับอย่างงดงาม ริ้วจีวรบางแนบเนื้อติดกับพระองค์คล้ายผ้าเปียกน้ำ พระพักตร์กลม พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์แสดงปางปฐมเทศนา(ปางแสดงธรรม) เบื้องล่างสลักเป็นรูปปัจวัคคีย์ และกวางหมอบ มีธรรมจักรคั่นกลาง ปัจวัคคีย์มีขนาดเล็กแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีรูปเคารพใดที่สวยงามเทียบกับพระพุทธรูปองค์นี้ได้ทั้งในความหมายและรูปแบบศิลปะ

ทางด้านสถาปัตยกรรม ในสมัยคุปตะนี้มีความงามด้านสถาปัตยกรรม ในสมัยคุปตะนี้มีความงดงามเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนๆ เช่นที่ถ้ำอชันตา(Ajanta) ปรากฏว่าสถาปัตยกรรมของอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่รูปร่างของเสาที่กลายเป็นการประดับตกแต่งลวดลายต่างๆ อย่างมากมาย มีบัวหัวเสารูปร่างคล้ายผ้าโพกหัวแขก วงโค้งรูปเกือกม้าที่เรียกว่า กูฑุ มีขนาดเล็กลงไปอีก และกลายเป็นเครื่องประดับตกแต่งอย่างธรรมดา ผนังถ้ำประดับประดาไปด้วยเครื่องตกแต่ง และพระพุทธรูป

ในช่วงปลายของศิลปะคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓) สถาปัตยกรรมของอินเดียก็ยังมีความงดงามอยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ เสาต่างๆ เริ่มมีรูปร่างใหญ่ขึ้น และบางครั้งก็มีบัวหัวเสารูปผ้าโพกหัวแขกขนาดใหญ่ รวมทั้งฐานของเสาที่สูงขึ้นมากจนเกือบทำให้ลำตัวของเสาหายไป สถาปัตยกรรมที่สำคัญในช่วงหลังนี้มีเทวสถานที่สำคัญอยู่ ๒ แห่ง คือ เอลลูรา (Ellura) และ เอเลฟันตะ ( Elephanta)

งานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจที่สุดคือถ้ำเอลลูราที่ ๑๖ หรือ ถ้ำไกรลาส ที่สลักลงไปในหินก้อนใหญ่มหึมากลางแจ้งรอบเทวสถานแห่งนี้ขุดเข้าไปในศิลาโดยรอบ

ธรรมจักรแกะจากไม้สัก Copy มาจากสมัยคุปตะ
ธรรมจักรหลังจากลงสีเรียบร้อยแล้วประดิษฐานติดตั้งหลังพระประธานศาลาปฏิบัติธรรมวัดขุนป๋วย

Download PDF File : ปริศนาธรรมจักร.pdf